10 เทรนด์แห่งอนาคต

‘Tech & Innovation’ รับมืออย่างไร เมื่อทศวรรษใหม่กำลังเปลี่ยนแปลง
16 ธันวาคม 2021

10 เทรนด์แห่งอนาคต ‘Tech & Innovation’ รับมืออย่างไร เมื่อทศวรรษใหม่กำลังเปลี่ยนแปลง

metaverse-01.jpg

ทุกวันนี้เรียกได้ว่า ‘เทคโนโลยี’ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่หมุนรอบตัวเราแทบจะ 24 ชั่วโมง โดยในแต่ละปีนั้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความสะดวกสบาย
ให้กับมนุษย์อย่างต่อเนื่อง งานวิจัยประจำปีฉบับล่าสุดของ Wunderman Thompson Intelligence ได้เปิดเผย 100 เทรนด์แห่งอนาคต (The future 100) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถปรับตัว
ได้ทันและเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษข้างหน้านี้

โดยในหัวข้อ ‘Tech & Innovation’ ได้พูดถึง 10 เทรนด์แห่งอนาคตของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 ซึ่งเหล่านักพัฒนา tech บางส่วนพยายามปรับแก้ pain point ต่างๆ เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งาน ให้สามารถมีอำนาจควบคุมข้อมูลของตนเองได้มากขึ้น และโฟกัสไปที่ระบบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวมากขึ้นด้วย

1.Protective tech

ในโลกที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวลจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ผลการสำรวจหลายแห่งต่างก็ชี้ว่า ผู้บริโภคมีความรู้สึกกังวลมากขึ้นอย่าง ผลสำรวจของ American Psychological Association (APA) ที่ชี้ว่า 32% ของชาวอเมริกันรู้สึกกังวลใจมากขึ้นกว่าปี 2018 ขณะที่กลุ่มคนรุ่น millennials เป็นกลุ่มที่มีความกังวลมากที่สุด

‘สิ่งแวดแวดล้อม’ หรือปัญหามลพิษต่างๆ กลายเป็นหนึ่งในปัญหาใหม่ที่คนรู้สึกกังวล ดังนั้นในปี 2020 นี้เชื่อว่าผู้บริโภคจะมองหาผลิตภัณฑ์และบริการที่ให้ทั้งความสะดวกสบายและให้ความรู้สึกปลอดภัยในคราเดียวกัน

ขณะที่ภายในงาน Consumer Electronics Show (CES) 2019 มีสินค้า showcases ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น Lishtot อุปกรณ์แบบพกพาคล้ายพวงกุญแจที่ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำได้ทันที และ Mitte เครื่องกรองน้ำอัจฉริยะ ที่จะช่วยกรองน้ำให้เราทันทีที่มีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เป็นต้น

แม้แต่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อย่าง Ikea ก็หันมาจับตลาดเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีมากขึ้นเช่นกัน อย่างผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด ‘Gunrid’ หรือ ม่านฟอกอากาศ เป็นสินค้าตัวแรกที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ากับสิ่งทอ เพื่อสะท้อนแนวคิดที่ว่าไม่ใช่แค่อากาศภายนอกที่ต้องระวัง บางทีอากาศที่หมุนเวียนภายในอาคารบ้านเรือนก็ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับเราเสมอไป ซึ่งเตรียมจะวางจำหน่ายภายในปีนี้

2.Anti-bullying gaming

โลกแห่งวงการเกมมักถูกตีตราว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะ ‘ความรุนแรง’ ที่เกิดขึ้นในสังคมเสมอ ดังนั้นในปีนี้สิ่งที่เราจะเห็นก็คือ การแก้ไขภาพลักษณ์ของเหล่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ‘เกม’ และสร้างภาพจำว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อผู้คน และมีความปลอดภัยสำหรับผู้เล่น

อย่างเมื่อเดือน ต.ค. 2019 Microsoft ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ชื่อว่า ‘Xbox Live’ บนแพลตฟอร์มเกมต่างๆ เพื่อให้อำนาจแก่ผู้เล่นเกมสามารถตั้งค่าตัวกรองที่จะ ‘อนุญาตและไม่อนุญาต’ สำหรับการรับส่งข้อความในเกม โดย Dave McCarthy หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ Xbox อธิบายไว้ว่า ฟีเจอร์ใหม่นี้จะให้ประโยชน์อย่างมากสำหรับนักเล่นเกมที่เป็นผู้หญิง หรือ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ซึ่งก่อนหน้านี้ตกเป็นเหยื่อในการ bullying อยู่บ่อยครั้ง

หรืออย่าง ‘Samsung Brazil’ ที่ร่วมมือกับเกมออนไลน์ Fortnite เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่เพื่อต่อต้านการถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (cyberbullying) เช่น ผู้เล่มเกมสามารถใช้ฟีเจอร์ ‘skins’ เพื่อเปลี่ยนรูปตัวละครในเกมให้เป็นภาพกราฟฟิก ด้วยราคาจำหน่ายอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,526 บาท) เป็นต้น

3.New digital communities

โลกในโซเชียลมีเดียที่เรารู้จักกันก่อนหน้านี้ ก็คือ พื้นที่ที่ไม่(เคย)เป็นความลับและเป็นส่วนตัว แต่เทรนด์ในปี 2020 สิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือ ‘โซเชียลมีเดีย = ความเป็นส่วนตัว’ เป็นการตอบสนอง pain point อย่างหนึ่งของผู้ใช้งานจากทั่วโลก

ผลศึกษาของ Royal Society for Public Health ในสหราชอาณาจักร ที่สำรวจกลุ่ม Gen Z และ millennials 1,500 คน โดยส่วนใหญ่ยอมรับว่า โซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น Facebook และ Instagram ทำให้พวกเขารับแรงกดดันที่มากเกินไป เพราะต้องแสดงให้เห็นแต่มุมที่ perfect อยู่ตลอด โดยมองว่าวัฒนธรรมแบบนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต

งานวิจัยฉบับนี้ยืนยันว่า ผู้ใช้สื่อโซเชียลวัยหนุ่มสาวทั่วโลก desire ที่จะใช้แพลตฟอร์มโดยที่ต้องมีความเป็นส่วนตัว, มีความน่าเชื่อถือ และต้อง wellbeing มากกว่าเดิม พวกเขาต้องการแชร์ในสิ่งที่ต้องการจะแชร์จริงๆ สำหรับบุคคลใกล้ชิดเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าหลักหรือการ direct messaging

ทั้งนี้ Threads app ของ Instagram น่าจะเป็นสื่อโซเชียลมีเดียแรกๆ ที่เริ่มขยับตัวเมื่อปี 2019 เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่สำหรับการแชร์ภาพ วิดีโอ หรือ การส่งข้อความกับเพื่อนสนิทได้ตลอดเวลา ซึ่ง Threads จะทำงานคู่กับรายชื่อเพื่อนสนิทที่เราเลือกไว้บน Instagram

แม้แต่สื่อสังคมอย่าง Snapchat ก็ออกแคมเปญ ‘real friends’ เพื่อท้าทายการเปลี่ยนแปลงของโลกโซเชียล รวมทั้งยังมี Tumblr ที่เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่เพิ่มช่องทางสำหรับทางสนทนาแบบสร้างสรรค์ในกลุ่มบุคคลสาธารณะร่วมกัน เช่น หัวข้องานอดิเรก ไปจนถึง K-POP เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากกว่าสร้างกระแสดราม่า

4.Sentient tech

เทคโนโลยีถือว่าเป็นสิ่งที่สร้างการรับรู้ให้กับมนุษย์มากขึ้นกว่าในอดีต เพราะทุกๆ อย่างบนโลกนี้เชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดนเพียงเสี้ยววินาที ดังนั้น ห้วงอารมณ์ต่างๆ ที่เรารู้สึกสามารถเพิ่มความเครียด หรือความเศร้าหมองให้กับเราได้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ต่อจากนี้เทรนด์ที่เราจะเห็นมากขึ้นจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายของผู้คน เพื่อบรรเทาความเครียดต่างๆ ในระหว่างวัน

เช่น เมื่อเดือน มี.ค.2019 ในประเทศสวีเดน ‘Clear Channel’ บริษัทรับทำโฆษณาแบบ out door ได้จัดการเปลี่ยนรถไฟใต้ดินในกรุงสตอกโฮล์มให้เป็นนิทรรศการศิลปะดิจิทัลที่มีความยาวที่สุดในโลก ด้วยจำนวนชุดภาพ 250 บิลบอร์ด เพราะเชื่อว่าความสวยงามของศิลปะจะช่วยลดความเครียดให้กับผู้เดินทางได้ดี โดยใช้เทคโนโลยีในการปรับระบบอัลกอริทึ่ม เพื่อประเมินอารมณ์ของผู้เดินทาง และเสนอภาพศิลปะแบบ real time จากการค้นหาของ Google, โซเชียลมีเดีย, บทความข่าว และข้อมูลการจราจร ตามความเหมาะสม

และอีกหนึ่ง showcase ที่น่าสนใจจากงาน CES 2019 ก็คือ รถยนต์แบรนด์ Kia สัญชาติเกาหลีใต้ ที่ใช้เทคโนโลยีในการประเมินอารมณ์ของผู้ขับขี่แบบ real time ชื่อโปรแกรมว่า Emotion Adaptive Driving เพื่อวิเคราะห์สีหน้า, ท่าทาง,  อัตราการเต้นของหัวใจ ในการถอดรหัสก่อนที่จะตอบสนองด้วยการปรับแสงไฟภายในรถ หรือใช้ดนตรีบำบัดให้จิตใจสงบก่อนขับขี่รถ เป็นต้น

5.Speed-control entertainment

ลองจินตนาการดูว่าถ้าเรากำลังนั่งดูภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งที่น่าเบื่อสุดๆ คุณจะอยากเร่ง speech ให้จบเร็วๆ หรือว่ามีบางฉากที่น่าสนใจมากๆ คุณจะอยากให้ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องได้ช้าลงมั้ย? ถ้าเคยรู้สึกแบบนั้นบอกได้เลยว่าปีนี้จะเป็นปีที่คุณดีใจมากที่สุด เพราะ Netflix กำลังทดสอบฟังก์ชั่นนี้แล้วเมื่อปี 2019 จุดประสงค์ก็เพื่อให้เราสามารถเพิ่มความเร็วหรือทำให้เนื้อหาช้าลงได้ง่ายๆ ในระบบ Android

ส่วนหนึ่งของที่มาไอเดียนี้ก็เพราะว่า พฤติกรรมผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนไปแล้ว target หลักใหญ่ๆ ของ Netflix ก็คือกลุ่มวัย Gen Z ที่ปัจจุบันระยะเวลาความสนใจของกลุ่มนี้เหลือเพียง 8 วินาทีเท่านั้น ขณะที่กลุ่ม millennials ระยะเวลาความสนใจลดลงเช่นกันเหลือแค่ 12 วินาทีในปัจจุบัน

ทั้งนี้ Netflix เคยพูดไว้ว่า การปิ้งไอเดียเพิ่มฟังก์ชั่นดังกล่าวนี้ก็เพราะว่า การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นของแพลตฟอร์มโซเชียล เช่น TikTok ซึ่งวิดีโอความยาว 15 วินาทีได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่ม Gen Z ขณะที่ Quibi สตรีมมิ่งวิดีโอจากอเมริกาก็เตรียมจะนำเสนอแพลตฟอร์ม ‘snackable’ นั่นคือ วิดีโอที่มีความยาวสั้นๆ เพียง 8 นาทีเพื่อตอบ need ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน โดยจะเปิดตัวในเดือน เม.ย.ปีนี้

6.The new rules for facial recognition

ยิ่งเทคโนโลยีก้าวล้ำมากเท่าไหร่ ความกังวลเกี่ยวกับความไม่เป็นส่วนตัวและถูกรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลก็มากขึ้น เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความวิตกให้กับผู้คนอยู่ไม่น้อย เราจะเห็นได้จากหลายๆ กรณีที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2019 อย่าง Chaayos เชนร้านกาแฟเจ้าดังของอินเดีย ที่เคยถูกกระแสใน Twitter โจมตีหลังจากที่บังคับให้ลูกค้าชำระเงินค่าเครื่องดื่มด้วยระบบการจดจำใบหน้า แต่กลับไม่มีวิธีการยกเลิกให้กับลูกค้าจนเป็นกระแสดราม่า

คล้ายๆ กับกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับ Live Nation Entertainment (LNE) ในสหรัฐฯ โดยพยายามบังคับให้ลูกค้าชำระเงินค่าบัตรคอนเสิร์ตในราคาที่ถูกกว่าผ่านระบบการจดจำใบหน้า

ดังนั้น เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเวอร์ชั่นใหม่ในปี 2020 จะต้องคำนึงถึงการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญสุด โดย Brittany Kaiser ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาของ Cambridge Analytica องค์กรที่สนับสนุนความโปร่งใสของข้อมูล กล่าวว่า นักพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องตีโจทย์ให้แตก และเพิ่มทางเลือกในการใช้ biometrics และการยินยอมที่จะแบ่งปันข้อมูลของลูกค้า โดยย้ำว่า การพยายามเก็บ data ลูกค้าอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อใจของลูกค้าเป็นพื้นฐาน มีส่วนทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก

7.The privacy era

ที่ผ่านมาอาจเคยได้ยินข่าวข้อมูลลูกค้ารั่วไหลอยู่บ่อยๆ ทำให้ความเชื่อใจของลูกค้าเดินทางมาถึงจุดแตกหัก ท่ามกลางสภาวะที่มีการล้ำเส้นในเรื่องข้อมูลอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น โครงการต่างๆ ที่บางแบรนด์ได้ดำเนินการไปในปี 2019 ถือเป็นก้าวแรกเพื่อไถ่โทษและฟื้นภาพลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้กำลังทำให้แนวคิดที่จะให้ผู้บริโภคมีอำนาจควบคุมข้อมูลของตนเอง กลายเป็นความจริงมากขึ้นในปี 2020

จุดยืนที่เด่นชัดมากๆ ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก กับยุคแห่งความเป็นส่วนตัวที่ต้องมีมากขึ้นในปีนี้ ก็คือ ‘Apple’ ที่ยืนหยัดในจุดยืนของตัวเอง ตอกย้ำจุดแข็งเรื่องการให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวกับผู้ใช้ มาพร้อมกับสโลแกนง่ายๆ แบบ hit to the point ในปี 2019 ‘Privacy’ ตรงตัวไม่อ้อมค้อม โดยมีเพียงคำอธิบายสั้นๆ แค่ว่า “What happens on your iPhone, stays on your iPhone

นอกจากนี้ยังมี ‘Google’ ที่ปล่อยฟีเจอร์ Password Checkup ตรวจความปลอดภัยบัญชีและรหัสผ่านบน Google Chrome แบบง่ายๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งนับตั้งแต่ที่เปิดตัวเมื่อเดือน ต.ค.2019 มีผู้ทดลองใช้แล้วมากกว่า 650,000 คน อีกทั้ง Google สามารถช่วยตรวจสอบชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่ไม่ปลอดภัยไปแล้วกว่า 316,000 บัญชีทีเดียว

8.Haptic tech

เทคโนโลยีแบบ Haptic เรียกได้ว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่เสมือนจริงให้กับผู้ใช้ไปอีกขั้น เป็นการป้อนกลับเพื่อให้เกิดความรู้สึกเมื่อสัมผัส ซึ่งใช้หลักการง่ายๆ จากแรงสั่น และการเคลื่อนไหวของพื้นผิวที่เราสัมผัส โดยจะเป็นการทำงานควบคู่กับ AR (เติมความเป็นจริง) และ VR (เสมือนจริง) พูดง่ายๆ ก็คือ ช่วยจำลองการโต้ตอบทางกายภาพ รวมทั้งเสียงให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น

โดยภายในงาน CES 2019 การ showcase ของเทคโนโลยี Haptic ได้รับความสนใจอยู่มาก พอๆ กับเทคโนโลยี 5G ซึ่งเราจะเห็นว่าเทคโนโลยีนี้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเกม, เครื่องใช้ไฟฟ้า และด้านการแพทย์ เช่น ระบบฟื้นฟูสมรรถภาพ และการผ่าตัดทางไกล เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ ‘ค้าปลีก’ เป็นธุรกิจแรกๆ ที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในสนามจริง โดยผู้บุกเบิกรายแรก ก็คือ ‘Alibaba’ ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีน ที่ต้องการสร้างประสบการณ์ให้เหล่านักช้อปปิ้งออนไลน์ได้ลองแตะผิวสัมผัสของผลิตภัณฑ์ ได้อย่างเสมือนจริงที่สุด

แม้แต่ด้านการศึกษาก็ยังมีการนำมา adapt ใช้เมื่อปี 2019 โดย Generic Robotics ศูนย์ฝึกอบรมทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักร ที่ใช้เทคโนโลยี Haptic  และ VR เพื่อฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพด้วยวิธีการจำลองเสมือนจริง โดยไม่จำเป็นต้องฝึกฝนกับผู้ป่วยจริงๆ

มีคำกล่าวหนึ่งของ Ryo Tada ดีไซเนอร์ประจำเว็บไซต์ Fulu ในกรุงลอนดอนที่กล่าวว่า “การสัมผัสเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความไว้วางใจ และเป็นการเอาใจใส่ ก็เหมือนกับความรู้สึกของทารกแรกเกิดที่ได้สัมผัสกับมือแม่ ถึงเรียบง่ายแต่เกิดการเชื่อมต่อได้ง่าย”

9.Navigating the AI workplace

ในเมื่อทุกอย่างในชีวิตประจำวันมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งหมด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่จะเห็นว่ามีหลายบริษัททั่วโลก มีการใช้ AI software ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในบริษัทนั้นๆ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้ดี แต่ก็ใช่ว่ามนุษย์จะรับได้กับทุกๆ เรื่องที่ต้องมีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง เพราะมองว่าวิธีการนี้เป็นการเขย่าวงการ HR หรือ การจัดการทรัพยากรบุคคลมากเกินไป

ข้อมูลของ Royal Society of Arts ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า 60% ของผู้บริโภคต่อต้านการใช้ระบบ AI หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อช่วยตัดสินใจในการ recruit คน ยิ่งไปกว่านั้นขณะนี้มีบริษัทกฎหมายจำนวนไม่น้อยที่เตรียมจะดำเนินคดีความกับ AI ด้วย

โดยตามข้อมูลยืนยันว่า มีบริษัทกว่า 700 ราย ได้แก่ Unilever, Hilton, JP Morgan Chase, Delta Air Lines, Vodafone, Ikea, Goldman Sachs และ HireVue ที่นำเสนอไอเดียที่จะใช้ AI ในการคัดเลือกคน รวมถึงเป็นผู้สัมภาษณ์งานทางวิดีโอ เพื่อช่วยบริษัทประเมินศักยภาพด้านอื่นๆ ของผู้ถูกสัมภาษณ์งาน ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง, การยิ้ม, จังหวะในการพูด และภาษาที่ใช้ในการสัมภาษณ์ แม้แต่การขยับตา เป็นต้น

10.Menotech

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้คาดการณ์ว่าในปี 2025 จะมีกลุ่มผู้หญิงราว 12% ของประชากรโลก ที่จะเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน และในแต่ละปีกลุ่มผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน และความผันผวนของระดับฮอร์โมน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะควบคุมได้ ขณะที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่มีคนสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากมีเทคโนโลยีบางอย่างที่ช่วยหาทางออก หรือสนับสนุนให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงดีขึ้น คงจะเป็นข่าวดีที่น่าติดตามมากทีเดียว

ในเดือน พ.ย.ปี 2019 ‘Apple’ ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพตัวใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของผู้หญิงโดยเฉพาะ ตั้งแต่การติดตามประจำเดือน ไปจนถึงการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังช่วยติดตามอุณหภูมิของร่างกายในขณะที่นอนหลับได้อีกด้วย

สำหรับ Jill Angelo ซีอีโอบริษัทสตาร์ทอัพ Gennev ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านสุขภาพ ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยผู้หญิงมากขึ้นว่า “เทคโนโลยีจะทำให้เรารับรู้ข่าวสารมากขึ้น ซึ่งข้อมูลถือว่ามีความสำคัญในปัจจุบันมาก ยิ่งเเรื่องช่วงวัยที่ประจำเดือนหมดคุณไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นจึงคาดหวังที่จะเห็น menotech มีความสำคัญมากขึ้น”
ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม Telehealth ของบริษัท Gennev เน้นที่การให้คำปรึกษาแก่กลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยการหมดประจำเดือน รวมไปถึงวิธีการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะแก่คนกลุ่มนี้ ขณะนี้เปิดตัวในสหรัฐอเมริกาเพียง 4 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย, จอร์เจีย, นิวเจอร์ซีย์ และ วอชิงตัน ดีซี ซึ่งในปีนี้บริษัทวางแผนที่จะขยายไปยังรัฐอื่นๆ ที่เหลือต่อไป