แอร์อินเวอร์เตอร์กับแอร์ธรรมดา ซื้อแบบไหนคุ้มกว่ากัน

เลือกซื้อแอร์ติดผนังแบบไหนดี ระหว่างแอร์อินเวอร์เตอร์และแอร์แบบธรรมดา แล้วระบบอินเวอร์เตอร์เย็นกว่า ประหยัดไฟกว่าจริงหรือเปล่า คุ้มไหมถ้าจะซื้อ
16 เมษายน 2023

เลือกซื้อแอร์ติดผนังระบบอินเวอร์เตอร์หรือธรรมดาดีกว่ากัน

ในยุคที่อะไร ๆ ก็ขึ้นราคา เราต้องรัดเข็มขัดกันเป็นพิเศษ แต่อากาศกลับร้อนจนต้องเปิดแอร์ทั้งวัน แต่พอบิลค่าไฟฟ้ามาก็รู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ ขึ้นมาทันที วันนี้เราจึงอยากจะมาแนะนำถึงวิธีการเลือกซื้อแอร์ติดผนังสำหรับบ้านทั่วไป ว่าติดแบบไหนถึงจะคุ้มค่ากว่ากัน ระหว่างระบบอินเวอร์เตอร์กับระบบแอร์ธรรมดาหรือ Non-Inverter

ระบบแอร์อินเวอร์เตอร์ช่วยประหยัดไฟจริงหรือไม่

ถ้าพูดถึงระบบอินเวอร์เตอร์ (Inverter) สิ่งแรกที่ทุกคนคิดถึงก็คือ การประหยัดไฟ ลงทุนครั้งเดียวแต่คุ้มไปอีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หรือว่าเครื่องซักผ้า มีแต่คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบอินเวอร์เตอร์เอาไว้ จะช่วยลดค่าไฟได้อย่างแน่นอน

การทำงานของแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์

ระบบอินเวอร์เตอร์ คือ ระบบการควบคุมการทำงานของคอมเพรสเซอร์ในเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยวงจรคอนเวอร์เตอร์ (Converter Circuit) จะแปลงไฟจากกระแสสลับ (AC) ให้เป็นไฟกระแสตรง จากนั้นจะผ่านวงจรอินเวอร์เตอร์ (Inverter Circuit) ที่เปลี่ยนจากไฟกระแสสลับให้เป็นกระแสตรง ทำให้สามารถปรับแรงดันและความถี่ได้ โดยทั้งสองระบบนี้จะถูกควบคุมโดยวงจรควบคุมให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จากนั้นจะทำการหมุนรอบการทำงานของเครื่องปรับอากาศ

สำหรับเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ เมื่อเปิดสวิตช์ คอมเพรสเซอร์จะทำงานและค่อย ๆ ลดอุณหภูมิลงจนถึงระดับที่ตั้งเอาไว้ จากนั้นจะมีการปรับรอบให้ช้าลง เพื่อให้อุณหภูมิภายในห้องคงที่อย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่ตัดรอบการทำงาน เมื่ออุณหภูมิสูงกว่าที่ตั้งไว้ประมาณ 2-4 องศาเซลเซียส ก็จะเพิ่มความเร็วของรอบในการหมุน ทำให้การทำงานของเครื่องปรับอากาศมีความต่อเนื่อง

ข้อดี ข้อเสีย แอร์อินเวอร์เตอร์

จุดเด่น-ด้อยของระบบอินเวอร์เตอร์

  • จุดเด่น ของระบบอินเวอร์เตอร์คือ ประหยัดไฟได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศทั่วไป เนื่องจากการทำงานของอินเวอร์เตอร์คือการลดรอบการทำงาน อุณหภูมิในห้องจึงไม่เปลี่ยนแปลงมาก ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานไม่หนัก จึงช่วยลดอัตราการกินไฟไปได้มาก และไม่เกิดอาการไฟกระชาก

นอกจากนี้ การไม่ตัดรอบการทำงาน เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในห้องให้คงที่ ทำให้คนที่อยู่ในห้องรู้สึกเย็นสบายสม่ำเสมอ ไม่มีช่วงที่ร้อนมากเกินไป หรือเย็นมากเกินไป

  • จุดด้อย คือ ราคาเครื่องแพงกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศทั่วไป แผงวงจรด้านในมีความซับซ้อนกว่ามาก ทำให้เมื่อต้องซ่อมบำรุงจึงมีค่าใช้จ่ายที่แพงตามไปด้วย

การคำนวณค่าไฟแอร์อินเวอร์เตอร์

สำหรับการคำนวณค่าไฟแอร์อินเวอร์เตอร์ สามารถใช้สูตรคำนวณได้ดังนี้

ค่าBTU / ค่า SEER / 1000 x ชั่วโมงการใช้งาน x จำนวนวันใช้งาน x ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย ตัวอย่างเช่น

แอร์ 12000 BTU / ค่า SEER=15.22 / 1000 x 4 ชั่วโมง x 365 วัน x 4.2 บาท = 4,835 บาท

หมายความว่าในหนึ่งปีเราจะเสียค่าไฟกับแอร์อินเวอร์เตอร์ประมาณ 4,835 บาท* ซึ่งหากว่าเราจะคำนวณว่าคุ้มหรือไม่ เราควรจะนำไปเปรียบเทียบกับแอร์ระบบธรรมดาในรุ่นที่เราต้องการในปริมาณ BTU ที่เท่ากัน
หมายเหตุ* ขึ้นอยู่กับอัตราค่าไฟต่อหน่วยที่จ่าย

แอร์อินเวอร์เตอร์เหมาะกับใคร

หากว่าคุณเป็นคนที่เปิดเครื่องปรับอากาศทุกวัน หรือเปิดแอร์ทั้งวัน เพื่อสู้กับอากาศร้อนภายนอก ระบบอินเวอร์เตอร์เป็นระบบที่เหมาะสมกับคุณ เพราะแม้ว่าราคาของเครื่องปรับอากาศจะสูงกว่าระบบธรรมดา แต่เมื่อเทียบกับส่วนต่างแล้ว มีความคุ้มค่ากว่าแน่นอน แต่หากว่าเราเปิดเครื่องปรับอากาศไม่บ่อยหรือไม่ค่อยได้อยู่บ้านสักเท่าไร แอร์อินเวอร์เตอร์อาจจะมีราคาแพงเกินไป และไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน

นอกจากนี้แอร์อินเวอร์เตอร์ยังเหมาะกับการติดตั้งในห้องนอน เนื่องจากเป็นระบบที่มีความเย็นคงที่ จึงช่วยรักษาอุณหภูมิให้เย็นสบายตลอดทั้งคืน ไม่สะดุ้งตื่นขึ้นมาเพราะอากาศร้อนหรือเพราะแอร์หยุดทำงานอย่างแน่นอน

แอร์อินเวอร์เตอร์ VS แอร์ธรรมดาแบบไหนคุ้มกว่า

ระบบแอร์ปกติกินไฟมากกว่าจริงหรือ

ทุกครั้งที่เราจะต้องเลือกซื้อแอร์ติดผนัง แม้ว่าเราจะทราบดีว่าระบบอินเวอร์เตอร์เป็นระบบที่ประหยัดไฟได้มากกว่า แต่หลายครั้งเราก็เลือกซื้อแอร์ในระบบธรรมดา หรือ Non-Inverter เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่ามาก และเมื่อคำนวณส่วนต่างแล้วมีความคุ้มค่ามากกว่าการซื้อแอร์อินเวอร์เตอร์

การทำงานของแอร์ระบบธรรมดา

สำหรับการทำงานของระบบแอร์ทั่วไปจะไม่ซับซ้อนเท่ากับระบบอินเวอร์เตอร์ โดยการทำงานจะแตกต่างจากระบบอินเวอร์เตอร์ ตรงที่จะเป็นคอมเพลสเซอร์แบบโรตารี ที่มีช่องว่างระหว่างแกนและโรลเลอร์ ทำให้สูญเสียพลังงาน และทำให้เปลืองไฟเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากระบบอินเวอร์เตอร์อย่างเห็นได้ชัดเลยก็คือ เมื่อกดสวิตช์เปิดเครื่องปรับอากาศ เครื่องปรับอากาศทั่วไปจะทำความเย็นไปจนถึงจุดที่ต่ำกว่าอุณหภูมิที่ตั้งไว้ประมาณ 2-4 องศาเซลเซียส จากนั้นจะหยุดการทำงานไปเลย และจะทำงานอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิที่ตั้งไว้ประมาณ 2-4 องศาเซลเซียส ทำให้อุณหภูมิภายในห้องไม่คงที่ และสวิงมากกว่าระบบอินเวอร์เตอร์

จุดเด่น-ด้อยของระบบธรรมดา

  • จุดเด่นของเครื่องปรับอากาศระบบทั่วไปคือ ราคาถูก เมื่อเทียบกับระบบอินเวอร์เตอร์ที่มีราคาแพงกว่าอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังมีระบบที่ไม่ซับซ้อน เวลาเสียหรือซ่อมบำรุงจึงมีราคาถูก
  • จุดด้อย คือ เปลืองไฟ และทำความเย็นไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเมื่อเครื่องปรับอากาศทำความเย็นถึงอุณหภูมิที่กำหนดเอาไว้จะหยุดการทำงานทันที นอกจากจะทำให้กินไฟแล้ว ยังทำให้อุณหภูมิในห้องไม่คงที่ หนาว ๆ ร้อน ๆ และไฟยังกระชากเมื่อเครื่องปรับอากาศกลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง

ข้อดี ข้อเสีย แอร์ธรรมดา

แอร์ระบบธรรมดาเหมาะกับใคร

แม้ว่าแอร์หรือเครื่องปรับอากาศระบบธรรมดาจะกินไฟมากมาย แต่ก็เหมาะกับห้องหรือบ้านที่ไม่ค่อยเปิดเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ยังเหมาะกับห้องเล็ก ๆ ที่ใช้แอร์ขนาดเล็ก เพราะไม่ค่อยกินไฟ จึงไม่มีส่วนต่างในเรื่องของค่าไฟและค่าเครื่องปรับอากาศมากนัก

การคำนวณค่าไฟแอร์ระบบธรรมดา

สำหรับการคำนวณค่าไฟแอร์ระบบธรรมดาหรือ Non-Inverter สามารถใช้สูตรคำนวณเดียวกันได้ดังนี้

ค่าBTU / ค่า SEER / 1000 x ชั่วโมงการใช้งาน x จำนวนวันใช้งาน x ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย ตัวอย่างเช่น

แอร์ 12000 BTU / ค่า SEER=12.85 / 1000 x 4 ชั่วโมง x 365 วัน x 4.2 บาท = 5,726 บาท

หมายความว่าในหนึ่งปีเราเสียค่าไฟกับแอร์ธรรมดาอยู่ที่ประมาณ 5,726 บาท ซึ่งหากว่าเทียบกับแอร์รุ่นอินเวอร์เตอร์ข้างต้นค่าไฟหนึ่งปีจะมีส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 891 บาท
การจะคำนวณว่าคุ้มหรือไม่ เราจะต้องเปรียบเทียบส่วนต่างค่าไฟ x จำนวนปีที่ใช้งาน แล้วนำไปดูว่าเมื่อเทียบกับราคาค่าเครื่องปรับอากาศแล้ว แบบไหนมีความคุ้มค่ามากกว่ากัน

การเลือกแอร์อินเวอร์เตอร์หรือแอร์ธรรมดา ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ซื้อเป็นหลัก ไม่ว่าจะดูที่ราคาหรือดูที่ความสบาย หากว่าใครต้องการซื้อแอร์ติดผนัง แอร์อินเวอร์เตอร์ สามารถเลือกซื้อได้ที่ Siam T.V. เรามีให้เลือกหลากหลายรุ่นตามต้องการ พร้อมมีบริการจัดส่งถึงหน้าบ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 052-086-666